7 เทรนด์การพัฒนาเว็บในปี 2017

Nuttavut Thongjor

เป็นธรรมเนียมข้ามปีที่เรานิยมปฏิบัติกัน นั่นคือการนำเสนอเทรนด์ของปีถัดไป แน่นอนว่า Babel Coder ก็ไม่อยากตกยุค ด้วยความเป็นเว็บที่นำเสนอด้านการพัฒนาแอพพลิเคชัน ผมจึงขอนำเสนอเทรนด์ทางการพัฒนาเว็บแอพพลิเคชันสำหรับปี 2017 กันในบทความนี้

เกณฑ์ใช้วัดเทรนด์สำหรับปี 2017

ต้องบอกก่อนว่าบทความประเภทนี้ ถือเป็นเพียงการประเมินจากมุมมองของคนคนนึงเท่านั้น ในบทความนี้ผมใช้เกณฑ์ส่วนตัว รวมกับ Google Trends, จำนวนการถามตอบและแท็กใน StackOverflow, การวัดจาก Github และตำแหน่งงานที่พบทั้งในต่างประเทศและในไทย ทั้งนี้เกณฑ์การวัดส่วนตัวถือเป็นหัวใจหลักของชุดการตัดสินในบทความนี้ครับ

7 เทรนด์น่าสนใจในการพัฒนาเว็บสำหรับปี 2017

เรื่องต่อไปนี้ไม่ใช่หัวข้อใหม่ เป็นหัวข้อที่มีมาตั้งแต่ปี 2016 หรืออาจจะเก่ากว่านั้นด้วยซ้ำ ด้วยเกณฑ์การตัดสินข้างต้นผมถือว่าหัวข้อตามอันดับต่อไปนี้ ล้วนเป็นสิ่งที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นจนถือเป็นเทรนด์สำหรับการพัฒนาเว็บในปี 2017

เรามาเริ่มจากอันดับที่ 7 กันก่อนฮะ...

7. Vue.js

เฟรมเวิร์กสุดรักของมวลมหาประชาชนล่าสุดได้มาถึงเวอร์ชัน 2.x เป็นที่เรียบร้อย ด้วยความเบาหวิวคุณจะรู้สึกสบายตัวเหมือนใส่ผ้าอนามัยแบบมีปีก กอปรกับประสิทธิภาพที่ดีกว่าจนทำให้ React ต้องมองตาปลิบๆ ข้อดีเหล่านี้ไม่ได้ทำให้การเขียนโปรแกรมกับ Vue ยากไปด้วย เหตุนี้ Vue จึงเป็นขวัญใจมวลมหาประชาชนเช่นคุณ จนต้องกลับมากู้ชาติกันอีกครั้งในปี 2017 (ปรี๊ดๆๆๆ)

6. D3.js

ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกของเราอุดมไปด้วยข้อมูล เมื่อข้อมูลมีก็ต้องมีการประมวลผลข้อมูล แต่กระบวนการได้มาซึ่งข้อมูลรวมถึงการประมวลผลข้อมูลเหล่านั้นจะหมดความหมายทันทีหากปราศจากการนำเสนอผลลัพธ์จากข้อมูลนั้น

D3.js เป็นไลบรารี่ของ JavaScript ตัวหนึ่งที่ได้รับความนิยมสูงมาก ภายใต้คอนเซปต์ data-driven transformations การสร้าง Chart, Map และอื่นๆเพื่อนำเสนอข้อมูลจึงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

ข้อมูลที่เพิ่มขึ้นทุกปี ความสำคัญต่อการนำเสนอข้อมูลจึงสำคัญขึ้นทุกปีเช่นกัน เมื่อรู้เช่นนี้แล้วพวกเธอว์จงเสพ D3.js โดยพลัน

5. Microservice และ Serverless Architecture

การจัดหาเครื่องเซิฟเวอร์นั้นเป็นเรื่องยุ่งยากและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายบริการ Cloud Computing จึงเกิดขึ้น ด้วยการตั้งค่าเพียงไม่กี่นาทีเราก็ได้เครื่องเซิฟเวอร์ไว้ใช้งานด้วยค่าใช้จ่ายที่ประหยัดกว่า

การขับเคลื่อนธุรกิจต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว การพัฒนาฟีเจอร์ใหม่แล้วต้องรอ deploy พร้อมฟีเจอร์อื่นของทีมข้างเคียงเป็นเรื่องไม่น่าอภิรมณ์อีกต่อไป แนวคิด Microservice ทำให้เราขยายขีดความสามารถของระบบเราด้วยการแยกการทำงานของระบบออกเป็นส่วนๆ เมื่อเป็นเช่นนี้เมื่อการพัฒนาฟีเจอร์ของส่วนหนึ่งเสร็จจึงสามารถ deploy ได้เลย ไม่ต้องรอจัดการพร้อมส่วนอื่นๆอีกต่อไป เพราะระบบของเราได้แยกส่วนอย่างชัดเจนแล้ว

ไม่ว่าจะการพัฒนาแบบไหนเราก็ยังต้องยุ่งกับการตั้งค่าเซิฟเวอร์ จะใช้งาน Rails รึ มี Ruby ติดตั้งหรือยัง? ใช้งาน Bash ไม่เป็น ออกคำสั่งบนเซิฟเวอร์ไม่ได้? ยากอะไร ไปเรียนซะ! และสารพัดปัญหาที่เราต้องปวดหัวกับการตั้งค่าและใช้งานบนเซิฟเวอร์ นี่คือปัจจัยที่ทำให้แนวความคิดของ Serverless เกิดขึ้น

Serverless เป็นแนวคิดการพัฒนาที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเซิฟเวอร์ นั่นคือนักพัฒนาไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับเซิฟเวอร์อีกต่อไป ทำให้เรามีเวลาไปโฟกัสกับการพัฒนาได้อย่างเต็มที่ หน้าที่ของเราคิดการเขียนโปรแกรมแล้วนำไปวางกับบริการ Cloud Provider เช่น บริการของ AWS Lambda เพียงแค่นี้ก็เรียบร้อย จบป๊ะ!

Microservice นั้นมาแล้วและยังคงสืบทอดเป็นทายาทอสูรต่อไปในปีนี้ ส่วน Serverless นั้นอยู่บนแนวคิดของ Microservice เช่นกัน แต่ไม่ใช่ทุกงานที่เหมาะสมที่จะพัฒนาด้วยแนวคิดของ Serverless เหตุนี้ผมจึงถือว่ามันเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่น่าจับตามองอย่างห่างๆ เพราะถ้าคุณไม่รู้ คุณจะคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง~

4. TypeScript

เป็นที่ประจักษ์ว่าภาษาประเภท Static Typed แม้จะป้องกันบัคให้กับโค้ดของเราไม่ได้ แต่ก็ช่วยป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการเขียนโค้ดผิดชนิดข้อมูลได้ แทนที่จะต้องรอให้ถึงช่วง runtime เหมือนภาษาตระกูล Dynamic Language

TypeScript เป็นภาษาประเภท Static Typed Language ที่ขยายขีดความสามารถจาก JavaScript ทำให้เราสามารถใช้ฟีเจอร์ของ JavaScript ใหม่ๆได้กับเบราเซอร์ปัจจุบัน โดยไม่ต้องรอให้เบราเซอร์สนับสนุนความสามารถต่างๆเหล่านั้นเสียก่อน

กาลครั้งหนึ่ง CoffeeScript เป็นภาษาทางเลือกที่ได้รับความนิยมในการพัฒนาเว็บแทน JavaScript แต่ปัจจุบัน TypeScript ได้รับความนิยมในการใช้งานสูงสุดในสามโลก ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนจากฝั่ง Angular ที่ใช้ TypeScript เป็นหลักในการพัฒนา หรือแม้กระทั่งจากฝั่ง React และ Vue ที่นิยมใช้ TypeScript มากขึ้นเรื่อยๆ แทนที่การใช้ JavaScript คู่กับ Flow อวยมาถึงขนาดนี้แล้วหละก็.. สอยเลย TypeScript

3. CSS Grid Layout

Flexbox ชื่อนี้ต้องคุ้นหูสำหรับเพื่อนๆหลายคน ยุคของ CSS สมัยใหม่เราใช้ Flexbox เพื่อจัดการ Layout ต่างๆในหน้าเพจของเรา แต่ให้ตายเถอะ ความจริงแล้ว Flexbox มันออกแบบมาเพื่อการจัดการ Layout ในมิติเดียว (one-dimensional layouts)

เมื่อความซับซ้อนของ Layout ในสองมิติเกิดขึ้น พระเอกอย่าง CSS Grid จึงเกิดขึ้น สำหรับใครที่เกลียด Microsoft เตรียมร้องยี้~~ ได้เลยครับ เพราะเทคโนโลยีนี้ได้รับการนำเสนอจากฝั่ง Microsoft จ้า

ปัจจุบัน CSS Grid ยังใช้จริงไม่ได้ ขาดการสนับสนุนให้ใช้งานได้บนเบราเซอร์หลายตัว แต่ไม่ต้องเป็นห่วง CSS Grid มีความหวังแน่นอน ครึ่งปีหลังของ 2016 เริ่มมีบทความเกี่ยวกับ CSS Grid มากขึ้น รวมถึงการพัฒนาของเจ้าตัวสเปคเองก็เริ่มชัดเจนมากขึ้นด้วยแล้ว เหตุนี้ CSS Grid จึงเป็นอีกเรื่องที่น่าจับตามองในปี 2017

2. GraphQL

เทคโนโลยีคู่กัดของ RESTful API เสนอโดยเจ้าพ่อโซเชียลอย่างเฟสบุค ด้วยข้อจำกัดดั้งเดิมของ REST ทำให้ GraphQL ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ถามว่า GraphQL ฆ่า REST ไหม? สำหรับผมคำตอบคือไม่ครับ แม้จะไม่ใช่ทั้งหมด แต่หลายอย่างของ GraphQL ก็สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงบน REST ได้ด้วยตัวของมันเองเช่นกัน

1. Progressive Web App

ข้อจำกัดของเว็บเริ่มลดลงมากขึ้น ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาแอพพลิเคชันบนมือถือก็สูงขึ้นเช่นกัน แบบนี้ทำไมเราไม่ทำเว็บของเราให้เหมือนแอพพลิเคชันบนมือถือซะเลยละ? และนั่นแหละฮะคือแนวคิดของ Progressive Web App

Progressive Web App ช่วยให้เราพัฒนาเว็บแอพพลิเคชันแต่ใช้กับมือถือได้ด้วยความรู้สึกใกล้เคียง Native App นั่นคือ การพัฒนาเว็บตามแนวทางนี้ต้องสามารถใช้ได้กับทุกเบราเซอร์ โดยออกแบบให้เหมาะกับทุกขนาดของอุปกรณ์ ไหนๆก็จะเหมือนแอพมือถือแล้ว ก็อย่าลืมทำหน้าตาให้เหมือนด้วย อีกสิ่งที่เจ๋งคือต้องทำงานได้ทั้ง online และ offline หรือแม้แต่เน็ตกากก็ต้องพิชิตได้ ที่สำคัญจะเหมือน Native App แล้วก็ขอให้กดติดตั้งได้ด้วยนะเออ

เกริ่นสรรพคุณมาซะขนาดนี้ เพื่อนๆคงพอเห็นภาพแล้วใช่ไหมครับ แค่มีทักษะการทำเว็บเราพัฒนาครั้งเดียวเพิ่มเติมนิดหน่อย ก็จะได้เว็บแอพพลิเคชันที่ใช้งานได้ลื่นไหลทั้งบนเดสก์ทอปและมือถือ ถือเป็นการลบรอยต่อที่ต้องสร้างแอพพลิเคชันมือแยกต่างหากจากเว็บไปอีกขั้นหนึ่ง และนี่จึงถือเป็นเทรนด์อันดับ 1 ที่ผมจัดอันดับให้ในบทความนี้

7 สิ่งที่ต้องรู้ในการพัฒนาเว็บสำหรับปี 2017

หัวข้อก่อนหน้านี้คือ 7 สิ่งที่น่าสนใจสำหรับปี 2017 แต่สำหรับรายการต่อไปนี้จะต่างออกไป เพราะมันคือสิ่งควรรู้ในปีนี้ หากเพื่อนๆคนไหนไม่รู้สิ่งเหล่านี้ ประกันได้เลยว่าจะคุยกับใครเขาไม่รู้เรื่อง คุยกับสาวข้างโต๊ะในที่ทำงานก็แห้ว จีบป้าแม่บ้านก็ไม่สำเร็จ! อ้า~ เมื่อรู้เช่นนี้แล้วรีบดูหัวข้อแล้วไปศึกษากันเลยฮะ

7. Yarn

ทุกวันนี้เราใช้อะไรเป็นตัวจัดการ packages ต่างๆของ Node? ใช่แล้วครับมันคือ NPM สุดช้านั่นเอง แต่ทุกท่านไม่ต้องห่วง วันนี้ TV Direct ขอนำเสนอ Yarn ตัวจัดการ dependency ที่น่ารักมาพร้อมกับความเร็วในการใช้งาน แคชทุก packages เก็บเอาไว้ให้คุณไม่ต้องเสียเวลาดาวน์โหลดอีกเป็นครั้งที่สอง สนับสนุนการใช้งานแบบ Offline Mode และอื่นๆ ที่จะช่วยให้การจัดการ dependency ของคุณเป็นเรื่องสนุก ที่สำคัญใช้คู่กับ NPM ได้นะเออ เอาละขายของขนาดนี้แล้ว ซื้อซิ!

6. Reactive Programming

แหม ช่างเป็นหัวข้อที่อธิบายยากใน 7 บรรทัดซะจริง เอาเป็นว่าเรายกตัวอย่างคลาสสิกขึ้นมาถกกันดีกว่า

ใน Microsoft Excel ถ้าเราใส่สูตรว่า cell ที่ J1 ให้เกิดจากการเอา cell ที่ A1 บวกเข้ากับเลข 2 เมื่อ cell A1 ของเราเปลี่ยนค่าเป็น 3 เป็นผลให้ cell J1 ของเรามีค่าเป็น 5 อัตโนมัติ นี่หละครับคือแนวทางการโปรแกรมแบบ Reactive

Reactive Programming เป็นหัวข้อที่เพื่อนๆควรศึกษาไว้ประดับหิ้งพระอย่างยิ่ง ถ้าใครไม่รู้จะเริ่มจากไหน ลองสัมผัส RxJS มาเล่นอย่างละมุดดูซิแล้วคุณจะหลงรักในสีสันแห่งความเป็น ReactiveX

5. Flexbox

ถ้าคุณเป็นนักพัฒนาที่ต้องการจบโปรเจคอย่างรวดเร็ว เป็นมือฉมังการรับจ็อบกว้านทำเว็บมาแล้วทั่วสามภพ Twitter Bootstrap ย่อมตอบโจทย์คุณเสมอ แต่ถ้าคุณพัฒนาเว็บของคุณเองหละ? ต้องการรีดประสิทธิภาพทุกอณู Bootstrap ยังตอบสนองความต้องการคุณไหม?

Bootstrap ได้ชื่อว่าบวมครับ แม้คุณจะใช้เวอร์ชัน SASS แล้วดึงเฉพาะส่วนที่ต้องการใช้จริงๆ มันก็ยังมีส่วนตกค้างที่ไม่ได้ใช้ให้คุณได้เชยชมอยู่ดี ดังนั้นถ้าคุณมีเวลาพอ ต้องการรีดทุกหยดให้เร็วและเบา คุณจึงควรเขียน CSS ขึ้นมาเอง แล้วการจัด Layout แบบไหนหละที่คุณควรใช้ float หรอ? ตบซ้ายด้วย float: left แล้วเตะขวาด้วย float: right อย่าดีกว่าครับ เพราะพระเอกของเรามาแล้วนั่นคือ Flexbox

4. Webpack

Module Bundler ที่ไม่ว่าหน้าอินทร์หน้าพรหมก็ต้องใช้ คุณมาจากสาย React หรือคุณจะเป็นคู่กัดอย่าง Angular แม้จะเป็นน้องใหม่ในวงการแบบ Vue ขากัดชาวบ้าน ไม่ว่าคุณจะเป็นสาวกชาบูแก๊งค์ไหนคุณก็ต้องใช้ Webpack!

Webpack ช่วยให้คุณไม่ต้องกังวลเรื่องการจัดการโมดูลในโค้ด JavaScript ของคุณอีกต่อไป เพราะมันจะช่วยคุณจัดการกับ Dependency ต่างๆระหว่างโมดูลเหล่านั้น นอกจากนี้เพียงการตั้งค่าเล็กน้อย Webpack ยังช่วยให้คุณรีดประสิทธิภาพจากโค้ดของคุณ ไม่ว่าจะเป็นการ Optimize โค้ดของคุณสำหรับการใช้งานบน Production หรืออื่นใดตามแต่คุณต้องการ (แน่นอนแหละว่าคุณต้อง config Webpack เป็นด้วยนะเออ~)

เมื่อ Webpack เป็นที่ต้องการสุดรักขนาดนี้ หากในปี 2017 ใครใช้ Webpack ไม่เป็น หางานเริ่มยากแล้วนะฮะ~

3. Functional Programming Paradigm

เมื่อคุณนึกถึงภาษาตระกูล Functional ภาษาแรกๆที่คุณมโนขึ้นมาในหัวอาจเป็น Haskell, Clojure หรือ Elixir แน่นอนว่าภาษาเหล่านี้ย่อมให้คุณได้ลิ้มรสกับความสามารถทางการเขียนโปรแกรมแบบฟังก์ชัน ไม่ว่าจะเป็น Immutability, Pure Function, Data Transformation, Higher Order Functions และอื่นๆ ที่คุณจะสนุกไปกับมันรึเปล่าก็หาทราบไม่

ด้วยความดีงามพระราม 8 ของบรรดาคุณสมบัติใน Functional Programming ภาษาส่วนใหญ่จึงสนับสนุนบางความสามารถของ Functional Programming มาตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหายังไม่บรรลุนิติภาวะแล้ว ในขณะที่บางภาษาเริ่มมีการสนับสนุนมากขึ้น เช่น Lambda และ Stream ใน Java 8 หรือ Arrow Function, Tail Call Optimization ใน JavaScript (ES2015)

เมื่อแนวทางหลายอย่างของ Functional Programming นั้นดีงาม กอปรกับการอวยไส้แตกด้วยการสนับสนุนฟีเจอร์เหล่านั้นในหลายๆภาษา จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่คุณจะไม่เรียนรู้ เพราะถ้าคุณไม่รู้วันนี้คุณจะคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง!

2. Docker

เทคโนโลยีคอนเทนเนอร์สุดดังที่ใครใช้ไม่เป็นในปี 2017 ถือว่าหลุดวงโคจรแน่นอนครับ ไม่ว่าคุณจะเป็นพนักงานบริษัทหรือเป็นฟรีแลนด์เราก็ยังแนะนำให้คุณใช้อยู่ดี

1. React

เฟรมเวิร์กสำหรับ Front End ยอด star อันดับ 1 ใน Github ที่นาทีนี้ใครก็ห้ามพลาด แม้คุณจะอวย Vue หรือเป็นสาวกเลือดแดงค่าย Angular ไม่ว่าคุณจะมาจากขั้วโลกเหนือหรือสามเหลี่ยมเมอร์บิวดา React ก็ยังคงตามไปหลอกหลอนคุณ ทั้งตำแหน่งงานที่มากกว่า เป็นขุมทรัพย์ผลิตนวัตกรรมใหม่อย่าง Virtual DOM, Redux, Relay และ GraphQL ผสานกับขุมพลังอย่าง React Native ยิ่งทำให้ทั้งพิภพปลาบปลื้ม เมื่ออวยกันขนาดนี้แล้ว React จึงได้ไปต่อ และเป็นที่ 1 ใน 7 อันดับสิ่งที่ต้องรู้ในการพัฒนาเว็บสำหรับปี 2017

7 เทรนด์ภาษาโปรแกรมเพื่อการพัฒนาเว็บสำหรับปี 2017

สำหรับหัวข้อนี้ผมจัดอันดับเฉพาะภาษาที่ผมคิดว่าควรค่าแก่การเรียนรู้และใช้งานเพื่อการพัฒนาเว็บ จึงไม่น่าแปลกใจที่ Swift จะไม่เสนอหน้ามาร่วมจัดอันดับในหัวข้อนี้!

7. Ruby

อัญมณีสีแดงเม็ดงามจากชาวญี่ปุ่น ด้วยความเรียบง่ายของตัวภาษา ผสานกับการออกแบบที่ต้องการให้เป็นภาษาที่สวยงามแต่แรก Ruby จึงเป็นหนึ่งในภาษาที่ผมรักเลย

การมาของ Rails 5 ที่ใช้ Ruby เป็นฐานในการพัฒนา ยิ่งส่งผลทำให้ Ruby เป็นภาษาที่ควรค่าแก่การจับตามองในปี 2017 แม้ทิศทางของตัวภาษา Ruby เองจะเอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่ด้วยอานิสงค์แห่ง Ruby on Rails จึงไม่ทำให้ Ruby หลุดไปจากสวนสัตว์ดุสิตโพลล์ของเรา

6. Elm

Elm เป็นภาษาที่สุดท้ายจะแปลงเป็นโค้ด JavaScript ให้เราอีกที แต่ที่วิเศษดั่งกระเป๋า 4 มิติของโดราเอมอนนั่นก็คือ โค้ดที่ได้ไม่มีทางเกิด Runtime Exceptions นะจ๊ะญาติโยม

ด้วยประสิทธิภาพที่ดีงาม โครงสร้างที่น่าหลงไหล จนตาลุง Dan Abramov ผู้สร้าง Redux ต้องนำไปเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจ กอปรกับความเป็น Funtional จึงอดไม่ได้ที่เราจะต้องโยน Elm ใส่ตะกร้า 7 อันดับภาษาน่าหลงไหลในปี 2017

5. Elixir

Elixir นั้นเป็นภาษาที่พัฒนาอยู่บน Virtual Machine ของ Erlang อีกทีนึง อะไรที่เป็นข้อดีของ Erlang นั่นจึงเป็นข้อดีของ Elixir ตามไปด้วย

Erlang ได้ชื่อว่าเป็นภาษาสุด fault tolerance นั่นคืออึด ถึก ควาย ฆ่าไม่ตายซักที เหตุนี้บริษัทด้านโทรคมนาคมทั้งหลายค่อนโลกจึงเลือกใช้ Erlang ถ้าจะอวยสรรพคุณแบบชวนเชื่ออีกหน่อยก็ต้องบอกว่า WhatsApp ก็พัฒนาด้วย Erlang นะ แถมทำให้รองรับคนใช้งานพร้อมกันถึง 450 ล้านคนได้ด้วยวิศวกรแค่ 32 คน แม้แต่ Facebook Chat ก็ยังใช้ Erlang เลย เทพไหมละ // ผ้าสามสีพร้อม เอ้ากราบ~~

มาจับกันที่ตัว Elixir บ้าง สำหรับ Elixir ก็เป็นภาษาตระกูล Functional Programming เช่นกันครับ ตัวภาษานั้นดูง่ายและน่าคบ ไวยากรณ์สวยงามน่าพัฒนา ที่สำคัญ Performance ดีอีกด้วย งานนี้ยิ่งถูกใจคอ Ruby และ Rails เพราะ Elixir มีเว็บเฟรมเวิร์กชื่อ Phoenix ไว้ให้เราใช้งาน // กราบอีกระลอก

4. Go

ภาษาจากค่าย Google ที่เรียบง่าย เหมาะแก่ชนทุกเผ่าพันธุ์ ด้วยความที่เรียนรู้ง่าย ประสิทธิภาพดี ไลบรารี่พร้อม Go จึงเป็นอีกหนึ่งขวัญใจที่มองไปทางไหนก็มีแต่คนใช้ ถ้าใครเกิดคำถามในใจว่าใครใช้? คำตอบก็คือ... Google ไง แหมทำเองแล้วไม่ใช้นี่ก็กระไรอยู่ ส่วนโปรเจคที่ดังๆก็ต้อง Docker เลยครับ ด้วยความที่ Go นั้นง่ายและประสิทธิภาพดี เราจึงได้เห็นใครๆก็หันมาใช้ Go ทำเว็บ เช่น Parse เป็นต้น

3. TypeScript

ช่วงนี้มองไปทางไหนก็เจอแต่คนใช้ TypeScript ไม่ว่าจะมาในร่างแฝงของ ES2015 หรือใช้เพราะโดนขืนใจให้ใช้เพราะ Angular แต่สุดท้ายคำตอบของเราก็ยังเป็น TypeScript

TypeScript ช่วยให้เราตรวจจับข้อผิดพลาดก่อน Runtime ได้ระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นความผิดพลาดที่เราพิมพ์พลาดเอง หรือการใส่ชนิดข้อมูลไม่ตรงตามความต้องการ ด้วย IDE ที่ชาญฉลาดทำให้คุณสมารถแก้ไขข้อผิดพลาดนั้นได้อย่างทันท่วงที

บางคนอาจไม่ชอบภาษาตระกูล Static Typed แต่ผมอยากให้ทุกคนลองเปิดใจกับ TypeScript ดูซักครั้ง... นะครับ

2. Python

ทุกปีที่ผ่านไปข้อมูลบนโลกก็เพิ่มปริมาณมากขึ้น การประมวลผลข้อมูลเหล่านั้นให้ได้มาซึ่งเพชรที่ซ่อนตัวในนั้นจึงเป็นงานของเรา และ Python คือพระเอกของงานนี้

Python นอกจากจะมีไลบรารี่ที่เก่งด้านการประมวลผลข้อมูลเพื่อทำ Data Mining แล้ว Python ยังมีเว็บเฟรมเวิร์กที่ช่วยให้คุณพัฒนาเว็บได้อย่างรวดเร็วอย่าง Django และ Flask ด้วยคุณสมบัติทางภาษาที่ใครก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าดีเยี่ยม กอปรกับความเป็นภาษายอดนิยมที่ตำแหน่งเงินเดือนค่อนข้างสูง Python จึงมาอยู่ในอันดับ 2 การจัดอันดับของเรา

1. JavaScript

พ่อทุกสถาบันคงใช้ได้กับ JavaScript ถ้าไม่ใช่ Static Content คงไม่มีเว็บไหนไม่มี JavaScript แล้วหละครับ ยิ่งมาตรฐานใหม่ๆของ ECMAScript ยิ่งทำให้ตัว JavaScript นั้นกินไม่ลง จากเดิมที่เรานิยมใช้ CoffeeScript หรือภาษาทางเลือกอื่นๆ เพื่อทำให้งานพัฒนาเว็บของเราง่ายขึ้น แต่ตอนนี้เราไม่ต้องการภาษาเหล่านั้นแล้ว การมาของ ES2015 ทำให้ JavaScript เหมือนแฟนเก่าที่ไปโมหน้ามาใหม่ สวยอ่อนวัยและน่าคบสุดๆ และเพื่อเป็นเกียรติแก่การศัลยกรรมในครั้งนี้ เราจึงขอมอบอันดับ 1 ให้แก่คุณ JavaScript // เอาตบมือซิ รอไร!

JIT Learning

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเว็บโปรแกรมเมอร์สมัยนี้เรารู้เฉพาะเรื่องการพัฒนาเว็บให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า โลกที่หมุนเร็วทำให้แนวทางการพัฒนาก้าวกระโดดไปสู่ธุรกิจสายอื่นๆ FinTech เป็นอีกหนึ่งสายที่เติบโตเร็วมาก และความต้องการตลาดแรงงานของสายนี้มีแนวโน้มที่จะรับคนที่เป็นทั้งทักษะทาง financial และทักษะการเขียนโปรแกรม

วันเวลาที่ผ่านไปกลับทำให้สิ่งหนึ่งเพิ่มขึ้น นั่นคือข้อมูล อีกหนึ่งสายที่ก้าวกระโดดมากที่สุดนั่นก็คือกลุ่มของ Data Science ที่จะเข้ามาเปลี่ยนโลกของเรา เหตุนี้ย่อมเป็นไปได้ที่อนาคตเว็บโปรแกรมเมอร์ที่เป็นเฉพาะทักษะการเขียนโปรแกรมจะอยู่ยากมากขึ้น

เพื่อไม่ให้เว็บโปรแกรมเมอร์ต้องกราบใคร ผมจึงขอแนะนำให้เพื่อนๆเพิ่มพูนความรู้ในด้านอื่นๆด้วยในปีนี้ที่นอกเหนือไปจากเรื่องการพัฒนาเว็บ การเรียนรู้สิ่งใหม่สมัยนี้เราไม่จำเป็นต้องไปนั่งเหม่อ 4 ปีในมหาวิทยาลัยอีกแล้วครับ เราสามารถทำ Just In Time Learning ได้ นั่นคือเรียนเท่าที่อยากรู้เมื่ออยากใช้ แน่นอนครับว่าคอร์สออนไลน์ตรึมเลยครับในอินเตอร์เน็ต หรือถ้าไม่ถนัดฟังหนังสือซักเล่มก็เป็นเพื่อนเรียนรู้ที่ดีสำหรับเราได้ และนี่คืออีกสิ่งที่ผมอยากทิ้งท้ายไว้ให้เพื่อนๆได้พิจารณากันสำหรับปี 2017 นี้ครับ

สารบัญ

สารบัญ

  • เกณฑ์ใช้วัดเทรนด์สำหรับปี 2017
  • 7 เทรนด์น่าสนใจในการพัฒนาเว็บสำหรับปี 2017
  • 7 สิ่งที่ต้องรู้ในการพัฒนาเว็บสำหรับปี 2017
  • 7 เทรนด์ภาษาโปรแกรมเพื่อการพัฒนาเว็บสำหรับปี 2017
  • JIT Learning